หลวงปู่นาค มะเริงสิทธิ์ หรือ พระเทพสิทธินายก เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นลูกที่ครอบครัวตั้งความหวังจะให้ศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นเกียรติแก่ตระกูล
แต่ตอนนั้นบ้านเกิดของท่านยังไม่มีโรงเรียน มีเพียงวัดที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา โยมบิดามารดาจึงนำตัวไปฝากกับพระครูสังฆวิจารย์ (มี)
ซึ่งเป็นลุงของท่านที่วัดบึง จังหวัดโคราช ท่านจึงได้รับการศึกษาพื้นฐานทั้งภาษาไทยและภาษาขอม

เมื่ออายุ 13 ปี หลวงปู่นาคได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัด หลังจากนั้นท่านมีความสนใจในการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะภาษาบาลีและธรรมวินัย พระอาจารย์จึงแนะแนวให้ท่านไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ จนได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เลื่อม วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่ออายุ 15 ปี หลวงปู่นาคสามารถสอบบาลีเปรียญธรรม 3 ประโยคได้เป็นครั้งแรก และได้รับพระราชทานอัฐบริขารจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2448 ท่านสอบบาลีเปรียญธรรม 4 ประโยคได้ด้วยปาก ซึ่งถือเป็นสิ่งยากมากในยุคนั้น

เมื่ออายุ 21 ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดระฆังโฆสิตาราม โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “โสภโณ” ท่านยังคงศึกษาธรรมและบาลีอย่างต่อเนื่อง และยังได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ที่วัดอรุณราชวรารามและวัด ราชสิทธาราม จนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา
ในช่วงปี พ.ศ. 2484 เมื่อเกิดสงครามเอเชียบูรพา หลวงปู่นาคได้จัดสร้างพระสมเด็จเนื้อผงขึ้นมา โดยใช้ตำราของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระสมเด็จที่ท่านสร้างนั้นได้แจกจ่ายให้ทหารที่ออกไปรบในสงคราม เพื่อเสริมขวัญกำลังใจ ซึ่งพระสมเด็จรุ่นนี้ได้รับความนิยมและมีพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์ วัตถุมงคลอื่น ๆ ที่ท่านสร้างขึ้น เช่น พระสมเด็จพิมพ์ต่าง ๆ ก็เป็นที่เลื่องลือและยังเป็นที่นิยมในวงการพระเครื่องจนถึงปัจจุบัน