หลวงปู่ดี พุทธโชติ พระเถราจารย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมและเมตตา ท่านเกิดที่จังหวัดชลบุรี และเมื่อท่านอายุ 14 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่งสมอ โดยมีพระอธิการรอด ซึ่งเป็นปู่ของท่าน เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ หลังจากนั้นท่านศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐานอยู่ 6 เดือน ก่อนจะลาสิกขามาช่วยบิดามารดาทำนา เมื่ออายุครบ 20 ปี ท่านอุปสมบทอีกครั้งที่วัดทุ่งสมอ โดยมีพระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “พุทธโชติ”
หลวงปู่ดี เป็นผู้ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยเฉพาะการท่องปาฏิโมกข์ ซึ่งท่านสามารถท่องจำได้จบบริบูรณ์ในพรรษาที่ 2 หลังจากนั้นท่านก็ได้ออกไปธุดงค์ยังที่ต่างๆ เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนวิทยาคมกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ในพรรษาที่ 12 ท่านได้จำพรรษาที่วัดรังษี กรุงเทพฯ และได้พบกับพระครูสิงคิบุราคณาจารย์ (หลวงพ่อสุด) เจ้าอาวาสวัดเหนือ ซึ่งชักชวนให้ท่านร่วมเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า ระหว่างทาง หลวงพ่อสุดเกิดอาพาธ หลวงปู่ดีจึงช่วยดูแลจนกลับถึงวัดเหนือ เมื่อหลวงพ่อสุดมรณภาพ หลวงปู่ดีได้รับการนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเหนือ แม้จะปฏิเสธในตอนแรก แต่สุดท้ายท่านก็ต้องรับตำแหน่งตามคำขอของศิษย์และชาวบ้าน
เมื่อหลวงปู่ดีเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดเหนือทั้งในด้านการบูรณะถาวรวัตถุและการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติภายในวัด พระทุกรูปปฏิบัติอย่างเรียบร้อย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัดเหนือจึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ให้เป็นแบบอย่างของวัดในพระพุทธศาสนา
หลวงปู่ดียังเป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในครั้งที่ทรงอุปสมบทที่วัดเหนือ และในปี พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดเหนือ พระพุทธรูปปางประทานพรที่จัดสร้างในคราวนั้น ยังได้รับพระราชทานพระปรมาภิไธย ภปร จารึกไว้บนผ้าทิพย์ ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่ชาววัด